กวางผา (อังกฤษ: Gorals)

Posted 08/17/2020 | update : 09/16/2021

กวางผา (อังกฤษ: Gorals) เป็นสกุลของสัตว์กีบคู่จำพวกแอนทีโลปสกุลหนึ่ง ในวงศ์ Bovidae ใช้ชื่อสกุลว่า Naemorhedus

การค้นพบและศัพทมูลวิทยา
กวางผาถูกค้นพบและศึกษาครั้งแรกในทางสัตววิทยา เมื่อปี ค.ศ. 1825 ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล มีลักษณะคล้ายแอนทีโลปที่พบในทวีปแอฟริกา จึงได้รับการจำแนกและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Antilope goral ต่อมาพบว่ามีลักษณะและนิสัยแตกต่างกันเด่นชัด จึงจำแนกออกเป็นสกุลใหม่ในปี ค.ศ. 1827 โดย ชาลส์ แฮมิลตัน สมิท นักธรรมชาติวิทยาและทหารชาวอังกฤษ คือ Naemorhedus[1]

ชื่อสามัญของกวางผาในภาษาอังกฤษคือ “โกราล” (Goral) มาจากภาษาฮินดี (गोरल)[2] ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์ Naemorhedus คำว่า Naemor มาจากคำว่า “Nemoris” ในภาษาลาติน แปลว่า “ป่า” และ haedus มาจากภาษาลาติน แปลว่า “แพะหนุ่ม” หรือ”แพะตัวผู้”[3]

ลักษณะและพฤติกรรม
กวางผามีรูปร่างคล้ายแพะหรือเลียงผา (Capricornis spp.) ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งครั้งหนึ่งเลียงผาเองก็เคยใช้ชื่อสกุลเดียวกับกวางผาด้วย มีเขาสั้น ๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นกรวยปลายเรียวแหลมคล้ายกันทั้ง 2 ข้าง ไม่มีการแตกกิ่งเขา เปลือกนอกเป็นปลอกเขาแข็งสวมทับบนแกนเขา ซึ่งเป็นแกนกระดูกที่งอกติดกับกะโหลกศีรษะชิ้นหน้าผาก ตัวเขาเจริญขึ้นตามอายุ และมีชุดเดียวตลอดชีวิต ไม่มีการผลัดเขาเหมือนกวาง

กวางผาไม่มีเคราใต้คางเหมือนแพะรวมทั้งมีขนาดเล็กกว่าเลียงผาเกือบเท่าตัว ขนมีสีอ่อนไม่เข้มเหมือนเลียงผา ขนชั้นนอกเป็นเส้นยาวหยาบ มีขนชั้นในเป็นเส้นละเอียดนุ่ม ซึ่งไม่พบในเลียงผา ระหว่างโคนเขาทั้ง 2 ข้าง ไปถึงหลังใบหูมีกระจุกขนเป็นยอดแหลมสีน้ำตาลเข้มชัดเจน ถัดต่อมาบริเวณหลังและสะโพกมีแผงขนยาวคล้ายอานม้าบาง ๆ สีเทา กลางหลังมีแถบขนสีดำพาดยาวตามแนวสันหลังไปจดโคนหาง หางสั้นเป็นพวงสีเข้มดำ ขนใต้คางและแผ่นอกสีน้ำตาลอ่อน เห็นเป็นแถบลายจาง ๆ บริเวณแผ่นอก สีขนช่วงโคนขาเข้มกว่าช่วงปลายขาลงไปถึงกีบเท้า เขาสั้นสีดำเป็นรูปกรวยแหลม ปลายเขาเรียวแหลมโค้งไปข้างหลังเล็กน้อย โคนเขาใหญ่มีรอยหยักเป็นวง ๆ รอบเขาชัดเจน โดยทั่วไปแล้วสีขนของกวางผาตัวเมียจะอ่อนกว่าตัวผู้ เขาสั้นเล็กและมีรอยหยักรอบโคนเขาไม่ลึกชัดเจนอย่างเขาของตัวผู้ [4]

ทั้งหมดเป็นสัตว์ที่อาศัยและหากินบนที่ราบสูงที่เป็นภูเขาหรือหน้าผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยจรดจนถึงเอเชียตะวันออก มีประชากรบางส่วนลงมาในเอเชียอาคเนย์ด้วย เป็นสัตว์ที่มีกีบเท้าที่แข็งแรงรับน้ำหนักได้ จึงเหมาะกับการกระโดดไปมาและไต่ไปตามหน้าผา เป็นสัตว์ที่มีการระแวดระวังภัยสูง ใช้ประสาทการมองเห็นมากกว่าการดมกลิ่น[5] อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ และว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วยซ้ำ เคยมีรายงานว่าสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ได้ [6] [7]

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (1 votes, average: 5.00 out of 5)
Loading...
4,939
View